ถ่านหิน ภัยร้ายของโลกที่เกิดจากการทับถมของซากดึกดำบรรพ์ เก็บรวบรวมโลหะหนักและคาร์บอนปริมาณมหาศาล ถูกปลุกขึ้นมาอาละวาดทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้าที่ได้ มากกว่าแหล่งพลังงานอื่นใด ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรต้องปลดระวางการใช้ถ่านหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า

รายงานนี้เสนอแนวทางการปลดระวางถ่านหินจากระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบ 3 ฉากทัศน์สำคัญของประเทศไทยคือ (1) กรณีฉากทัศน์ที่ S1 ดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบัน (PDP2018 Rev.1) ซึ่งถ่านหินจะคงถูกใช้อยู่ตลอดแผนและต่อเนื่องไป (2) กรณีฉากทัศน์ S2 ดำเนินการปลดระวางถ่านหินภายในปี พ.ศ. 2580 โดยการยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ และทะยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิม (3) กรณีฉากทัศน์  S3 เร่งปลดระวางถ่านหินให้หมดภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งหมายถึงการยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าบางฉบับก่อนครบกำหนด จากการศึกษาพบว่าการดำเนินการตามข้อเสนอฉากทัศน์  S2 และฉากทัศน์ S3 ยังสามารถคงความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในระดับกำลังผลิตสำรองมากกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้ตลอดช่วงปี พ.ศ. 2564-2580 นอกจากนี้ยังมีการกระจาย แหล่งพลังงานไฟฟ้าได้อย่างสมดุลไม่ต่างจากแผน PDP เดิม

ในส่วนของราคาไฟฟ้า พบว่า การดำเนินการปลดโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะส่งผลให้ใช้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ได้เต็มที่มากขึ้น เนื่องจากเรากำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังการผลิตสำรองสูงล้นระบบที่ร้อยละ 43.6 และคาดว่าราคาค่าไฟฟ้าจะไม่ต่างจากเดิมมากนัก เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของประเทศไทยไม่สูงมาก สำหรับแนวทางการชดเชยสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ต้องยกเลิกก่อนกำหนดให้นำค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment) ในอนาคตมาชำระ โดยรัฐจะได้ประโยชน์จากการไม่ต้องเสียเงินลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มาช่วยชดเชยอีกด้วย สำหรับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับแรงงานและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าจากถ่านหิน ขอเสนอ 3 แนวทางในการดำเนินการ ได้แก่ (1) การวางแผนการเปลี่ยนผ่านตามแนวทาง 4 เสาหลักของการมีงานที่มีคุณค่า นั่นคือ ใช้กระบวนการการเจรจาทางสังคมที่มีส่วนร่วม บนพื้นฐานของการคุ้มครองทางสังคม และสิทธิในที่ทำงาน เพื่อมุ่งไปสู่การมีงานที่มีคุณค่าภายใต้การเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น (2) ดำเนินการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าเดิมให้เกิดประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน เช่น การสร้างอุทยานพลังงานหมุนเวียน เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว หรือ การพัฒนาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าแบบกริดอัจฉริยะ (smart grid)  ได้แก่ สถานีไฟฟ้า โรงเก็บพลังงานไฟฟ้า (grid energy storage) หรือศูนย์ควบคุมสั่งการระบบกริดอัจฉริยะ เป็นต้น และ (3) พัฒนากำลังคนในปัจจุบันให้มีทักษะรองรับการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น ด้วยการจัดการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานด้านระบบไฟฟ้าแบบกริดอัจฉริยะ การวางแผนกำลังการผลิตพลังงานในระบบผสมผสานพลังงานหมุนเวียน การออกแบบดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าหมุนเวียน ประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่จะมีความต้องการสูงมากในอนาคต 

ประโยชน์ที่ได้จากการปลดระวางถ่านหิน ประกอบด้วยการลดมลพิษในน้ำ ดิน อากาศ และลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน การลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 21.2 – 24.1 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับโดยป่าสมบูรณ์ขนาด  3.95 ล้านไร่ (ประมาณ 4 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร) และยังสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้  

การปลดระวางการลงทุนในถ่านหิน (coal divestment) เป็นแนวทางที่ดำเนินการทั่วโลก เนื่องจากการตระหนักถึงพิษภัย และความเสี่ยงในการเกิดปรากฏการณ์โลกร้อนแบบที่ไม่มีจุดวกกลับ ประเทศไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จึงมีส่วนสำคัญในการร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อความยั่งยืนของลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปในการดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
รัฐบาลไทยต้องหยุดฟอกเขียว! เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รัฐสภาซึ่งเป็นที่ประชุมระดับชาติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องเป็นผู้นำประกาศ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ (climate emergency declaration)”

มีส่วนร่วม