ประเด็นหลัก

ในปี 2564 คุณภาพอากาศของไทยเป็นอย่างไร?

ในปี 2564 ความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีที่วัดได้ในแต่ละจังหวัดตามรายงานนี้ มีค่าระหว่าง 12.7 ถึง 31.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยต่อปีของ PM2.5 ที่ถ่วงน้ำหนักตามจำนวนประชากรทั้งหมด หรือคือปริมาณการได้รับสัมผัสเฉลี่ยต่อประชากรจะอยู่ที่ 21.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่าความเข้มข้นตามค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงสี่เท่า

มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร?

ในปี 2564 ประเมินว่าผลกระทบจากการสัมผัสกับ PM2.5 ในระยะยาวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรถึง 29,000 คน โดยประเมินเฉพาะจังหวัดในงานวิจัยนี้

หากความเข้มข้นของ PM2.5 ในพื้นที่เหล่านี้เป็นไปตามค่าแนะนำของ WHO จำนวนผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากมลพิษ PM2.5 จะลดลงถึงร้อยละ 77หรือสามารถรักษาชีวิตได้มากถึง 22,000 คนในแต่ละปี

การเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากน้อยอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับสาเหตุอื่น?

คาดว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 29,000 คนในปี 2564 อันเนื่องมาจากมลพิษ PM2.5 ในจังหวัดต่าง ๆ ตามรายงานฉบับนี้ ซึ่งเมื่อคิดต่อจำนวนประชากรแล้ว อัตราการเสียชีวิตจาก PM2.5 สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมในประเทศไทยรวมกัน

มลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในช่วงเวลาใดของปี?

การรับสัมผัส PM2.5 ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม คิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของการรับสัมผัส PM2.5 ทั้งหมดของประชาชนในปี 2564 ในช่วงเวลาสามเดือนนี้สภาพอากาศที่ปิดและความชุกจากการเผาในภาคเกษตรได้ซ้ำเติมปัญหาคุณภาพอากาศที่เกิดจากการปลดปล่อย PM2.5 จากการจราจรบนท้องถนน อุตสาหกรรม และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ อันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

เราจะแก้ปัญหาคุณภาพอากาศในประเทศไทยได้อย่างไร?

รัฐบาลไทยต้องให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามค่าแนะนำคุณภาพอากาศฉบับใหม่ของ WHO โดยมียุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการที่ระบุเวลาชัดเจน เช่น การควบคุมและกำจัดแหล่งกำเนิด PM2.5 ด้วยการเลิกใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามดินแดน นำการออกแบบเมืองยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปธรรม และกำหนดมาตรฐาน PM2.5 ของประเทศให้เป็นไปตามแนวทางของ WHO เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชน