ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่ภาคเหนือตอนบนของไทยได้รับผลกระทบมากว่า 15 ปีนั้น แม้ปัญหานี้จะได้รับความสนใจจากภาครัฐบ้างในช่วง 3-4 ที่ผ่านมา จากการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิขออากาศดีคืนมา อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบสำคัญจากการวิเคราะห์ความเข้มข้นของ PM2.5 รายเดือนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ภาคเหนือของไทย ตอนบนของสปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา) ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่าปัญหามลพิษข้ามพรมแดน PM2.5 ไม่ได้ลดความรุนแรงลงเลย เป็นการย้ำให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีการทบทวนความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี พ.ศ. 2563 (Haze-free ASEAN by 2020) และมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขั้นต่อไปภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution)  ประกอบกับนโยบายมาตรการทางกฎหมายจากภาครัฐที่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการก่อหมอกควันพิษตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต  หากยังขาดมาตรการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหามลพิษทางอากาศที่ภาคเหนือตอนบนของไทยที่มีสาเหตุหลักจากการเผาวัสดุจากการทำเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม ก็จะยังคงมีแนวโน้มที่จะคุกคามสุขภาพของประชาชนต่อไปทุกปี

ในปี 2563 ที่ผ่านมากรีนพีซ ประเทศไทย เผยรายงานวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมที่ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อน และร่องรอยพื้นที่เผาไหม้จากภาพถ่ายดาวเทียมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือ ภาคเหนือตอนบนของไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา (ระหว่างปี พ.ศ.2558-2562) พบว่า มีพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภาคภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่โดยเฉลี่ย 1 ใน 3 (30%) ของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าวยังระบุถึง ภาพรวมความสัมพันธ์หว่างพื้นที่ปลูกข้าวโพดและจุดความร้อนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงพบว่า จุดความร้อนที่ตรวจพบและอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดนั้น พบมากที่สุดในเดือนเมษายนเกือบทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับจุดความร้อนที่เริ่มมีมากตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา และสะสมมากที่สุดประมาณช่วงปลายมีนาคม ถึงกลางเมษายนของทั้งสามประเทศ

ภาพเปรียบเทียบค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่างปี 2562 และ 2563

ในการวิเคราะห์ล่าสุดถึงข้อมูลความเข้มข้นของ PM2.5 รายเดือนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างปี 2562-2563 มีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

  • ในช่วงปี 2563 แบบแผนการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 ที่มีความเข้มข้นเกินค่าเฉลี่ยรายเดือนตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก(มากกว่า 25 µg/m3) ครอบคลุมพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวม 112.6 ล้านไร่  โดยกระจายครอบคลุมตอนเหนือของ สปป.ลาว มากที่สุด 56.07 ล้านไร่ รองลงมาคือภาคเหนือตอนบนของไทย 39.3 ล้านไร่ และรัฐฉานของเมียนมา 17.2 ล้านไร่
  • ในช่วงปี 2563 พบร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสูงที่สุดในเดือนมีนาคมรวมกันเป็น 7,004,171 ไร่ รองลงมาคือเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 6,524,028 ไร่ และเดือนเมษายนจำนวน 5,344,935 ไร่
  • ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ฉลี่ยรายปีทั้งหมด 3,594,992 ไร่ ในช่วงปี 2563 อยู่ในเขตรัฐฉานของเมียนมา 2,001,539 ไร่ ตอนบนของ สปป.ลาว 986,761ไร่  และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย 606,692 ไร่ ตามลำดับ
  • พบจุดความร้อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหมดในปี 2563 สูงที่สุดในเดือนมีนาคมจำนวน 75,115 จุด

และรวมตลอดทั้งปีมีจำนวน 131,498 จุด โดยอยู่ในรัฐฉานของเมียนมามากที่สุด 66,855 จุด หรือร้อยละ 50.84 ของจุดความร้อนทั้งหมด รองลงมา คือ ตอนเหนือของ สปป.ลาว 34,890 จุด หรือร้อยละ 26.53 ของจุดความร้อนทั้งหมด และภาคเหนือตอนบนของไทย 29,753 จุด หรือร้อยละ 22.63 ของจุดความร้อนทั้งหมด