ความยั่งยืนและความเป็นธรรมในน่านน้ำสากล: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ.2563 เป็นรายงานที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดทำขึ้นเป็นฉบับที่ 4 แล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริษัทและแบรนด์ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องในภูมิภาคว่า มีความก้าวหน้าด้านนโยบายทางสิ่งแวดล้อมและด้านแรงงานอยู่ในระดับใด โดยในปีนี้มีผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทย 9 แบรนด์ ประเทศอินโดนีเซีย 5 แบรนด์ และประเทศฟิลิปปินส์ 6 แบรนด์ ที่เข้าร่วมในการสำรวจ

ผลการสำรวจพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่มีแนวโน้มดีขึ้นด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และด้านการจัดหาวัตถุดิบปลาทูน่าจากแหล่งที่มีความยั่งยืนและชอบธรรม อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีการบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเล ที่เชื่อมโยงกับการทำประมงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงพบว่าการเปิดเผยข้อมูลกับผู้บริโภคในภูมิภาคมีลักษณะเป็น “สองมาตรฐาน” เช่นเดียวกับในรายงานฉบับที่ผ่านมา กล่าวคือ ในทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อหลักของสินค้าอาหารทะเลแปรรูป มีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลของอาหารทะเลให้กับผู้บริโภคได้รับทราบ แต่ในประเทศผู้ผลิตเอง ผู้บริโภคกลับไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ตัวอย่างหนึ่งคือ แบรนด์ทูน่าไทยในรายงานฉบับนี้ หลายแบรนด์ผลิตภายใต้มาตรฐานการส่งออกไปต่างประเทศ ตามที่บริษัทแม่กำหนด ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้จะอยู่บนพื้นฐานการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคที่มากกว่าสินค้าที่ขายในประเทศ

สต็อกปลาทูน่าทั่วโลกยังคงประสบกับความกดดันอย่างรุนแรงจากการทำประมงทำลายล้าง การทำประมงเกินขนาด และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing: IUU) แรงงานบังคับบนเรือประมงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นปัญหาที่ร้ายแรงบนเรือประมงนอกน่านน้ำ ที่พบเจอได้ในทุกมุมโลก บริษัทต่าง ๆ ต้องมีนโยบายการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และด้านการอนุรักษ์ให้ครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตทุกภาคส่วน เพราะอุตสาหกรรมทูน่ามีความเสี่ยงสูงมากที่อาจเกิดการใช้แรงงานบังคับ และการทำประมงแบบทำลายล้าง

ผลรายงานหลักและข้อเสนอ

กรีนพีซยังคงใช้หลักเกณฑ์การประเมิน 7 ประการเหมือนที่ผ่านมา ในการจัดอันดับบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดหาแหล่งวัตถุดิบปลาทูน่าของแต่ละบริษัท ครอบคลุมทั้งด้านความยั่งยืนของแหล่งวัตถุดิบ, ความชอบด้วยกฎหมาย, นโยบายจัดหาแหล่งวัตถุดิบ, ความสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้, การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง, ความโปร่งใสและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค และความเป็นธรรม พบว่ามีแบรนด์เดียวของไทยที่จัดอยู่ในเกณฑ์ “ดี” คือ ซูเปอร์ ซี เชฟ มีแบรนด์ไทย 7 แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ “พอใช้” คือ เอโร่, นอติลุส, ท็อปส์, ซี เล็ค ทูน่า, อะยัม, เทสโก้-โลตัส และทีซีบี และแบรนด์เดียวของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ “ปรับปรุง” คือ โรซ่า

อย่างไรก็ตาม หลายแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่ร่วมการจัดอันดับ ยังขาดความคืบหน้าในการเพิ่มมาตรการดูแลแรงงานประมงตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเล ตามรายละเอียด ดังนี้

  • 13 บริษัท จาก 20 บริษัท มีการทำงานที่สอดรับกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยงานในภาคประมง โดยสนับสนุนความพยายามและการนำไปปฏิบัติจริง
  • 11 บริษัท จาก 20 บริษัท มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบและป้องกันการใช้แรงงานบังคับกลางทะเล
  •  8 บริษัท จาก 20 บริษัท ไม่รับซื้อปลาทูน่าจากเรือประมงที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้าจากแรงงาน
  • 7 บริษัท จาก 20 บริษัท ขอเอกสารรายชื่อลูกเรือประมง (fishing crew manifest)
  • 4 บริษัท จาก 20 บริษัท มีระบบสายด่วนร้องทุกข์ หรือช่องทางแจ้งเบาะแสกรณีแรงงานถูกละเมิด โดยยังคงปกปิดตัวตนผู้ร้องเรียน

เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประมงให้เกิดความยั่งยืนเป็นธรรมมากขึ้น กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทและแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องปฏิบัติตามข้อเสนอ ดังต่อไปนี้ 1) ควรรับซื้อปลาทูน่าจากเรือที่ใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ได้แก่ เบ็ดตวัด เบ็ดมือ และเรืออวนล้อมแบบไม่ใช้เครื่องล่อปลา 2) มีมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงาน ตามหลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ ขององค์การสหประชาชาติ และ 3) ไม่รับซื้อปลาทูน่าที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล  หรือรับซื้อปลาทูน่าจากเรือประมงที่ใช้เวลาออกทะเลไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม